วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เรื่องที่ 8 สื่อเพื่อการนำเสนอข้อมูล

เรื่องที่  8 สื่อเพื่อการนำเสนอข้อมูล

            สื่อ  หมายถึง สิ่งใด ๆ ก็ตามที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร  
         
องค์ประกอบของการสื่อสาร ที่สำคัญของการสื่อสารนั้นมี  4 ประการ  เพราะถ้าหากขาดองค์ประกอบ ประการใดประการหนึ่งไป  การสื่อสารก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย สำหรับในช่วงแรกนี้ เพนรอด (Penrod ,1983: 254) ได้เสนอความคิดว่า กระบวนการสื่อสารจะปรากฏเมื่อผู้สื่อสารตัดสินใจส่งสารไปยังผู้รับ โดยสารจะเริ่มในสมองของผู้ส่งซึ่งถือว่าเป็นแหล่งของข้อสนเทศแล้วจึงจะถูกส่งไปยังสมองของผู้รับ ซึ่งถือว่าเป็นปลายทางของการส่งสารด้วยวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง และในขณะที่ส่งสารไปยังช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ นั้นอาจเกิดสิ่งรบกวนขึ้นได้ จากกระบวนการดังกล่าวจะเห็นว่าการสื่อสารจะปรากฏขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย  4  ประการ และแสดงให้เห็นตามภาพองค์ประกอบทั้งหมด 4 ประการ  มีรายละเอียดดังนี้
      
แหล่งที่มา : ดัดแปลงจาก Penrod, 1983, 254
           1. ผู้ส่งสาร ( Sender ) หมายถึง บุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นผู้สร้างสาร    หรือแหล่ง กำเนิดสาร     แล้วส่งสารไปยังบุคคลอื่น หรือไปยังหน่วยงานอื่นด้วยวิธีใดวิธีการหนึ่ง หรือ อาจหลายวิธี   เช่น   การพูด การเขียน การแสดงท่าทาง เป็นต้น ผู้ส่งสารจึงถือเป็นองค์ประกอบประการแรก  ที่ทำให้กระบวนการสื่อสารเกิดขึ้น เพราะเป็นผู้เริ่มต้นการสื่อสารนั่นเอง ดังนั้นผู้ส่งสารอาจเป็นบุคคลคนเดียว กลุ่มบุคคล หน่วยงาน   หรือสถาบันองค์กรก็ได้ผู้ส่งสารควรตระหนักอยู่เสมอก็คือ   จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสารที่จะสื่อออกไปนั้นอย่างแจ่มชัดมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เข้าใจถึงความสามารถและความพร้อมในการรับสารของผู้ที่ตนจะสื่อสารด้วย    รวมทั้งเลือกใช้วิธีการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การสื่อสารครั้งนั้นๆบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
              2. สาร ( Message ) หมายถึง เรื่องราวหรือสิ่งต่างๆที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความรู้สึก  ฯล ฯ ที่ผู้ส่งสารต้องการส่งไปให้ผู้อื่นได้รับ และเกิดการตอบสนองสารประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ 
                  
2.1 รหัสของสาร ได้แก่ภาพ สัญลักษณ์ หรือสัญญาณต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้แสดงออกแทนความคิด หรือความรู้สึกต่างๆ ดังนั้น สารจึงจำแนกได้  2 ลักษณะ คือ
                    1. รหัสของสารที่เป็นถ้อยคำ ( วัจนภาษา ) ได้แก่ ภาษาพูด และภาษาเขียน
                    2. รหัสของสารที่ไม่เป็นถ้อยคำ ( อวัจนภาษา ) ได้แก่ กิริยาท่าทาง สัญลักษณ์ และสัญญาณต่างๆ
                  2.2 เนื้อหาของสาร   ได้แก่   มวลความคิด และประสบการณ์ที่ผู้ส่งสาร ต้องการ    จะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกัน  เนื้อหาของสารจะแฝงไปกับรหัสของสาร เมื่อผู้รับสารสามารถ ถอดรหัสของสารได้ ก็แสดงว่าเข้าใจเนื้อหาของสารนั้นแล้วเราแบ่งออกเป็น  2 ลักษณะ คือ
                  1. เนื้อหาของสารที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นองค์ความรู้ หลักเกณฑ์ หรือข้อสรุปที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว มีเหตุผลยอมรับได้ว่าเป็นความจริง สามารถอ้างอิงได้
                  2. เนื้อหาของสารที่เป็นข้อคิดเห็น คือ ความรู้สึกหรือความคิดส่วนตัวของผู้ส่งสาร โดยอาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้
                2.3 การจัดสาร ได้แก่ การนำเนื้อหาของสารมาเรียบเรียงอย่างมีระบบ เพื่อ ให้ได้ใจความตามเนื้อหาที่ต้องการ ด้วยการเลือกใช้รหัสของสารที่เหมาะสม เช่น  การเลือกใช้คำ การใช้ท่าทาง ประกอบ การจัดลำดับความ การอธิบาย เป็นต้น สารที่ได้รับการจัดอย่างดี จะทำให้สารมี จะทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ส่งสารต้องการ
            3. สื่อและช่องทาง ( Medium and Channel ) คือ สิ่งที่เป็นตัวกลางทำให้สารเคลื่อนตัวออกไปจากผู้ส่งสาร มีทั้งสื่อที่อยู่ตามธรรมชาติ     เช่น    อากาศ คลื่นแสง คลื่นเสียง และสื่อที่มนุษย์ทำขึ้นหรือผลิตขึ้น  เช่น โทรศัพท์ หนังสือ นิตยสาร แถบบันทึกเสียง โดย สารจะถูกถ่ายทอดเข้าสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์ เช่น อวัยวะ หรือประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นช่องทางของผู้ส่งสารผ่านช่องทางของสารไปสู่ผู้รับสาร
            4. ผู้รับสาร ( Receiver ) หมายถึง จุดหมายปลายทางที่สารจะส่งไปถึง ผู้รับสารอาจ เป็นบุคคลเดียว หรือเป็นกลุ่มก็ได้ ถ้าหากผู้รับสารตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผู้ส่งสาร ก็แสดงว่าผู้รับสารเข้าใจความหมายของสารที่ส่งมา ผู้รับสารจึงมีหน้าที่แปลความหมายของสารส่งสารต่อไปยังผู้รับสารคนอื่นๆตามที่ผู้ส่งสารกำหนดจุดมุ่งหมายไว้
     วัตถุประสงค์ของการสื่อสารของวิทยากรในการนำเสนอ
              มนุษย์ทุกคนมีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น และเพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นดำเนินไปอย่างสันติสุข การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยปกติมนุษย์จะใช้การสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
               1. เพื่อแจ้งให้ทราบ หมายถึง การสื่อสารที่ผู้ส่งสารจะแจ้ง หรือบอกกล่าวข่าวสาร ข้อมูลเหตุการณ์ ความคิด ความต้องการของตนให้ผู้รับได้ทราบ
               2. เพื่อสอนหรือให้การศึกษา เป็นการสื่อสารที่มุ่งจะให้ผู้รับมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านองค์ความรู้ ความคิด สติปัญญา จึงมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอน หรือการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการโดยเฉพาะ
               3  เพื่อสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิง หมายถึง การสื่อสารที่มุ่งให้เกิดผลทางจิตใจหรืออารมณ์ ความรู้สึกแก่ผู้รับสาร เช่น ทำให้เกิดความบันเทิง รื่นเริง สนุกสนาน เกิดความพอใจ เกิดความสุข ความสบายใจ เป็นต้น
               4. เพื่อเสนอหรือชักจูงใจ จะมุ่งเน้นให้ผู้รับสารมีพฤติกรรมคล้อยตาม หรือยอมปฏิบัติตาม เช่น เปลี่ยนทัศนคติจากที่เคยไม่ชอบมาชอบได้ ฉะนั้น ผู้ส่งสารจึงต้องใช้วิธีการนำเสนอสารในรูปแบบของการแนะนำ ชี้แนะ หรือยั่วยุ และปลุกเร้าที่เหมาะสม
     ประเภทของการสื่อในการนำเสนอ
              การจำแนกประเภทของการสื่อ สามารถจำแนกได้หลายลักษณะตามเกณฑ์   และวัตถุ ประสงค์ที่จะนำมาพิจารณา โดยทั่วไปสามารถจำแนกประเภทของ การสื่อ  ตามเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
              1. จำแนกตามจำนวนผู้รับสื่อสาร ซึ่งจำแนกได้ดังนี้
                 1.1 การสื่อสารภายในตัวบุคคล หมายถึง การสื่อสารที่บุคคลเดียวเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร เช่นการคิดอยู่คนเดียว การอ่านหนังสืออยู่คนเดียว การพูดกับตัวเอง
                 1.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล หมายถึง การสื่อสารที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป สื่อสารกันโดยเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับสลับกันไป มองเห็นหน้าตากัน และพูดกันได้อย่างทั่วถึง การสื่อสารประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นการสื่อสารในลักษณะกลุ่มย่อย ที่ทุกคนสามารถได้แลกเปลี่ยนสารกันได้โดยตรง   เช่น การพูดคุยกัน การสอนหนังสือในกลุ่มย่อย การประชุมกลุ่มย่อย การเขียนจดหมายโต้ตอบกัน เป็นต้น
                 1.3 การสื่อสารกลุ่มใหญ่ หมายถึง การสื่อสารระหว่างคนจำนวนมาก ไม่อาจมองเห็นหน้าตาได้อย่างทั่วถึง สมาชิกในกลุ่มไม่สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารกันได้ทุกคน เพราะมีระเบียบวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำนวนสมาชิกก็มากเกินไป เช่น การบรรยายในที่ประชุม การสอนหนังสือในห้องเรียน การกล่าวคำปราศรัย การพูดหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
                  1.4 การสื่อสารองค์การ เป็นการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน หรือหน่วยงานกับบุคคล        โดยเนื้อหาของสาร และวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภารกิจ และงานขององค์การ   หรือหน่วยงานเท่านั้น เช่น การสื่อสารในบริษัท การสื่อสารในหน่วยราชการ การสื่อสารในโรงงานอุตสาหกรรม เป็น ต้น
                  1.5  การสื่อสารมวลชน หมายถึงการสื่อสารที่มีไปยังประชาชนจำนวนมากในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งประชาชนจะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป  เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยสื่อเป็นสื่อมวลชนซึ่งมีอยู่  4  ชนิด   ได้แก่  หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
               2. จำแนกตามลักษณะการใช้ภาษา จำแนกได้ 2 ประเภท คือ
                   2.1 การสื่อสารที่ใช้ภาษาถ้อยคำ หรือการสื่อสารเชิงวัจนภาษา เป็นการสื่อสารที่อยู่ในภาษาพูดหรือภาษาเขียน    ได้แก่ การสื่อสารที่ใช้ ภาษาพูดและภาษาเขียน   เช่น    การพูดบรรยาย การอภิปราย การเขียนหนังสือ เป็นต้น
                    2.2  การสื่อสารที่ไม่ใช้ภาษาถ้อยคำ หรือการสื่อสารเชิงอวัจนภาษา เป็นการสื่อสารที่ไม่ได้อยู่ในภาษาพูดหรือภาษาเขียน ได้แก่ การสื่อสาร ที่ใช้อากัปกริยาท่าทาง หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น กริยาอาการ สิ่งของ เวลา ร่างกาย สถานที่ น้ำเสียง เป็นต้น
              3. จำแนกโดยถือเกณฑ์เห็นหน้าค่าตากัน คือ ยึดเอาตำแหน่งที่อยู่ของผู้ส่งสาร และผู้รับสารเป็นหลักพิจารณา จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                   3.1 การสื่อสารแบบเผชิญหน้าหรือการสื่อสารทางตรง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสาร และผู้รับสารอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นกัน โต้ตอบซักถามกันได้ทันทีทันใด และมองเห็นอากัปกริยาซึ่ง กันและกันได้ตลอดเวลาที่ทำการสื่อสาร เช่น การสนทนากัน การเรียนการสอนในห้องเรียน การประชุมสัมมนา เป็นต้น
                   3.2 การสื่อสารแบบไม่เห็นหน้าหรือการสื่อสารทางอ้อม เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันทั้งสถานที่และเวลา ไม่สามารถซักถามหรือตอบโต้ได้ในทันทีทันใดและไม่สามารถสังเกตกริยาท่าทางซึ่งกันและกันได้ โดยจะอาศัยสื่อกลางเข้ามาช่วย เช่น โทรเลขหนังสือพิมพ์ จดหมาย เป็นต้น
               4. จำแนกโดยถือเกณฑ์ความสามารถในการโต้ตอบกัน
                   4.1 การสื่อสารทางเดียว   เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่มีโอกาสได้โต้ ตอบกัน อาจะเห็นหน้าหรือไม่เห็นก็ได้ โดยผู้ส่งสารไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้พูด หรือโต้ตอบกัน เช่น ครูกำลังสอนนักเรียน โดยไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็นเลย
                  4.2 การสื่อสารสองทาง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถตอบโต้ได้ขณะทำการสื่อสาร เช่น การคุยตอบโต้กันทางโทรศัพท์ การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น
              5. จำแนกประเภทตามเกณฑ์ความแตกต่างระหว่างผู้รับสารกับผู้ส่งสาร มี 3  ประเภท คือ
                  5.1 การสื่อสารระหว่างเชื้อชาติ เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างเชื้อชาติ เป็นคนละภาษา ดังนั้นการสื่อสารประเภทนี้ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องศึกษาภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม  ของผู้ที่ตน เองสื่อสารด้วย เช่น ชาวไทยสื่อสารกับชาวอังกฤษ เป็นต้น ไม่เช่น นั้นการสื่อสารอาจจะล้มเหลวได้
                  5.2 การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารของคนต่างวัฒนธรรมกัน ซึ่ง  ผู้ส่งสารและผู้รับสารอาจเป็นคนในประเทศเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน    เช่น   การสื่อสารระหว่างคนไทยภาคกลาง กับภาคเหนือ คนไทยพื้นราบกับคนไทยถูเขา เป็นต้น
                  5.3 การสื่อสารระหว่างประเทศ เป็นการสื่อสารในระดับชาติ ผู้ส่งสารและผู้รับสาร จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของชาติ การสื่อสารประเภทนี้มักเป็นการสื่อสารที่เป็นทางการ
             6. จำแนกโดยถือลักษณะเนื้อหาวิชา จำแนกได้ 8 ประเภท คือ
                  6.1 ประเภทข่าวสาร เป็นการสื่อสารที่เน้นเอาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับระบบข่าวสารนำ ไปประยุกต์ใช้กับงานด้านการกระจายข่าว การส่งข่าว การนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ ตลอดจนการพัฒนาวิธี วิเคราะห์ระบบข่าวสาร
                  6.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อสารที่มุ่งถึงทฤษฎีการสื่อสารใน สถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การสื่อสารแบบตัวต่อตัว การสื่อสารกลุ่มย่อย ตลอดจนการสื่อสารกลุ่มใหญ่
                  6.3 การสื่อสารมวลชน เป็นการสื่อสารที่มุ่งส่งสารไปสู่คนจำนวนมากซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ให้ได้รับสารเดียวกันในเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน
                  6.4  การสื่อสารการเมือง    เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหาไปในทางการเผยแพร่ข่าวสารการ เมือง การประชาสัมพันธ์หาเสียง การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบการเมือง การเลือกตั้งตลอดจนระบอบ การปกครอง
                  6.5  การสื่อสารในองค์การ   เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหาให้ทราบถึงประสิทธิผลของ การดำเนินงานในองค์การ หรือหน่วยงานทั้งในการบริหารและการจัดการ
                  6.6  การสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล  หมายถึง  บุคคลในประเทศเดียวกัน สื่อสารต่างๆวัฒนธรรมกัน หรือการสื่อสารกับบุคคลต่างประเทศ ต่างเชื้อชาติกัน เนื้อหาของสารก็ย่อมเกี่ยวข้องกับทฤษฎี และพฤติกรรมทางวัฒนธรรมด้วย
          
       6.6  การสื่อสารการสอน เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหามุ่งเน้นถึงหลักวิชาการ การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ ซึ่งอาจจะอยู่ในระบบการสอน หรือเทคโนโลยีการสอน เช่น การสอนในห้องเรียน การสอนระบบทางไกล เป็นต้น
                  6.7 การสื่อสารสาธารณสุข   เป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นเนื้อหาในการพัฒนาสุขภาพพัฒนาคุณภาพของชีวิตของประชาชน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาระบบการสาธารณสุข การเผยแพร่ โน้มน้าว ใจให้ประชาชนตระหนักในการพัฒนาสุขภาพพลานามัย
           สรุป    สื่อเป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร      เพราะฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยปกติมนุษย์จะใช้การสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ ต่าง ๆ  ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
เรื่องที่  9    การจัดบรรยากาศการอบรมและสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ บรรยากาศ ที่วิทยากรฝึกอบรมจะต้องสร้างขึ้นเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
          1. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น ( Warmth ) ได้แก่การเริ่มเปิดฉากการพูด ลีลา ท่าทาง น้ำเสียง ที่เป็นกันเองต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม จะสร้างความรู้สึกที่ดีทางจิตใจทัศนคติที่ดีต่อกัน ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน    ผู้เข้าอบรมจะตระหนักว่าวิทยากรมีความเข้าใจในตัวเขา แสดงความเป็นมิตรยอมรับ ตลอดจนความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ     ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมอบอุ่นอยากเข้าไปสอบถาม      สนทนากับวิทยากรอย่างเปิดเผยเป็นกันเอง สิ่งนี้จะส่งผลมายังการเรียนรู้ และการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรม สามารถตัดความกังวล แสดงการช่วยเหลือซึ่ง
กันและกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมรักที่จะแสวงหาความรู้ รักการฝึกอบรม รักหน่วยงานและสถาบัน
              2. บรรยากาศของการยอมรับนับถือ (Respect)  การที่วิทยากรให้การยอมรับนับถือในเรื่อง  วัยวุฒิ  ประสบการณ์  ความตั้งใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่าสามารถรับความสำเร็จได้ ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเสมอกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีปมด้อยขาดความมั่นใจในตนเอง วิทยากรจึงควรสร้างบรรยากาศและถ่ายทอด ความรู้สึกของการยอมรับนับถือนี้ไปยังผู้เข้ารับการฝึกอบรม
           
 3. บรรยากาศที่อิสระ (Freedom)  คือ  บรรยากาศที่ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีอิสระในการที่จะเลือกตัดสินใจ  เลือกเชื่อ เลือกสนใจ เลือกกิจกรรมที่มีความหมายและคุณค่าแก่ตนเองรวมทั้งการให้โอกาสในการที่จะทำผิดพลาดด้วย   บรรยากาศเช่นนี้จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม

เกิดการเรียนรู้ เกิดความมั่นใจในตนเองในการเรียน     ลดความตึงเครียดได้มากกว่าชั้นเรียนที่มีแต่ระเบียบ กฎเกณฑ์และข้อบังคับมากเกินไป
         
  4. บรรยากาศท้าทาย (Challenge)  การจูงใจ การกระตุ้น การให้กำลังใจสนับสนุนจะทำให้เกิดบรรยากาศท้าทายให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตัดสินใจทำ กล้าเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อให้เขาประสบผลสำเร็จ พูดให้เขารู้สึกว่าผู้บรรยายมีความเชื่อในความสามารถของเขา ที่จะทำงานนั้นแม้ว่าจะเป็นงานค่อนข้างยาก ให้เขาเกิดกำลังใจสู้ เกิดความกล้าที่จะทำในสิ่งนั้น ๆ
             5. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success)  ผู้บรรยายที่ฉลาดจะเลือกพูดถึงแต่เรื่อง
ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมประสบความสำเร็จมากกว่า   จะพูดถึงความล้มเหลว ทำให้คนเรามีแต่ความหวัง เพราะคนเราอยู่ได้ด้วยความหวังและความสำเร็จของกิจกรรมที่ทำคนเราจะเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้นนั้นมาจากความสำเร็จ   มิใช่มาจากความล้มเหลว

        
    6. บรรยากาศของการชี้นำ (Direct)   การเรียนการสอนที่ไม่มีการบอกถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หลักการ ทฤษฎี ที่เป็นแนวทางเป็นกรอบให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้เดินไปสู่ความสำเร็จ หรือการเรียนรู้ จะเหมือนเรือไม่มีหางเสือ ผู้บรรยายจะต้องให้แนวทางชี้นำให้เขาเดินไปสู่การเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายที่มีความอิสระพอสมควร แต่ไม่ใช่อิสระจนไม่เห็นเป้าหมายทำอย่างไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ถูก คงจะไม่เป็นการเรียนการสอนที่ดีได้จะต้องให้ทุกคนไปในแนวทางที่ถูกต้องและไปพร้อม ๆ กัน
            7. บรรยากาศของการควบคุม (Control)  เป็นบรรยากาศที่วิทยากรต้องควบคุมให้เกิดระเบียบวินัย          ผู้เรียนจะเรียนได้น้อยถ้าปล่อยให้อิสระจนเกินขอบเขตไม่มีการควบคุม    ผู้เรียนที่มีการควบคุมจะเรียนได้ดีกว่า การเรียนที่ปล่อยผู้บรรยาย    ต้องชี้แจงทำความเข้าใจอย่างสุภาพ นิ่มนวลว่า ทำไมจึงต้องทำสิ่งนี้        แต่ไม่ทำสิ่งนั้น ทำไมจึงต้องห้าม ทำไม่จึงต้องลงโทษ และไม่ให้ใครมีสิทธิพิเศษบรรยากาศของการควบคุมนี้จะทำได้โดยการพูดให้ผู้เข้ารับ
การฝึกอบรมเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องทำ
          สรุป  องค์ประกอบทั้ง
7 ประการดังกล่าวข้างต้น วิทยากรผู้บรรยายจะต้องสร้างและผสมผสานให้กลมกลืนกันไปในขณะดำเนินการฝึกอบรม จึงจะสามารถพัฒนาผลของการฝึกอบรมให้ได้ผลสำเร็จในระดับสูงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และจุดมุ่งหมายของกระบวนการฝึกอบรมที่ตั้งไว้ทุกประการ

 เรื่องที่ 10 การประเมินวิทยากร

           การประเมิน คือ การให้ผลย้อนกลับ แก่ผู้พูด เปรียบเหมือนกรจกที่ส่องสะท้อนภาพกลับคืนนั้นเอง ว่าการพูดแต่ละครั้งประสบความสำเร็จ แค่ไหน  การประเมินวิทยากรมีความสำคัญมาก เพราะ จะช่วยให้วิทยากรทราบผล การพูด พร้อมทั้งการปรับปรุงตนเอง  ซึ่งการประเมินที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ประเมินต้องเข้าใจเทคนิค และแนวทางที่ถูกต้องในการประเมิน ไม่ใช่เพราะไม่ชอบ ควรมองด้วยความเป็นธรรม
           การประเมินวิทยากรมีหลายประการ   วัตถุประสงค์การประเมินเพื่อให้วิทยากร และผู้จัดทำได้นำไปปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งต่อไป  ซึ่งการประเมินเป็นการดีที่ทำให้วิทยากร จะได้รู้จุด บกพร่องของตัวเอง และจุดเด่น
จากความหมายของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยาหลายท่านได้กล่าวไว้สรุปความหมายได้ว่า  การเรียนรู้หมายถึง  กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลจากพฤติกรรมเดิมไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร        อันเนื่องมาจากประสบการณ์ของการที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม    หรือจากการฝึกหัดพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นเรื่องของการอ่าน การเขียน การคิด หรือการฝึกทักษะต่าง ๆ  ก็ได้ทั้งสิ้น (เชียรศรี วิวิธสิริ, 2534)   ดังนั้น การประเมินผลการเรียนรู้ จึงหมายถึง กระบวนการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร อย่างเป็นระบบ  สำหรับใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับผู้เรียน ให้ข้อมูลย้อนกลับไปยังผู้เรียนเกี่ยวกับความก้าวหน้า จุดเด่น จุดด้อย  ใช้ตัดสินประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และความเพียงพอของหลักสูตร ตลอดจนใช้ชี้แนะนโยบายการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
              
ระดับการประเมินวิทยากร แบ่งเป็น 4 ระดับ
                
ความหมาย                 ค่าน้ำหนัก       ค่าคะแนนเฉลี่ย
                   ดีมาก                    4                           3.25 - 4.00
                   ดี                         3                           2.50 - 3.24
                  พอใช้                      2                          1.75 - 2.49
                  ควรปรับปรุง              1                           1.00 -1.74
การประเมินวิทยากร
             ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ตอบแบบประเมินส่วนใหญ่มีความเห็นว่าวิทยากร ที่ให้ความรู้เบื้องต้นคุณลักษณะอยู่ในระดับดีมาดังแสดงในตารางที่ ได้แก่
            1. การรักษาเวลา
            2
. ความเหมาะสมของวิทยากรโดยส่วนรวม
            3.
ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ฟังเข้าใจ
            4.
การจัดลำดับความสัมพันธ์ของเนื้อหาวิชา
            5.
ความรอบรู้ในเนื้อหาวิชา
            6.
การถ่ายทอดเนื้อหาวิชาให้เป็นที่น่าสนใจ
            7.
การตอบคำถาม
            8.
การใช้โสตทัศนูปกรณ์
          
9. การจูงใจผู้รับการศึกษาอบรมในระหว่างการถ่ายทอด
            10.เทคนิค/วิธีการศึกษาอบรมในระหว่างการถ่ายทอดเหมาะสมกับหัวข้อวิชา
          
11.ความชัดเจนในการบรรยาย
       การประเมินผลวิทยากรในหัวข้อ การจัดทำแผนกลยุทธ์
            
1. การประเมินวิทยากร


หัวข้อประเมิน

แบบประเมินรวมวิทยากร
ดีมาก
ดี
พอใช้
ควรปรับปรุง
ไม่ดีมาก
1. การเตรียมตัวของวิทยากร





2. วิธีการนำเสนอ





3. เนื้อหาของการบรรยาย/การประชุมเชิงปฏิบัติการ





4.ประโยชน์ของการบรรยาย/การประชุมเชิงปฏิบัติการ





5.ท่านพอใจกับการบรรยาย/การประชุมเชิงปฏิบัติการ






2. การประเมินการจัดโครงการ
หัวข้อประเมิน
ดีมาก
ดี
พอใช้
ปานกลาง
ไม่ดีมาก
1. สถานที่การประชุม





2. ระยะเวลาการประชุม





3. อุปกรณ์และเอกสารประกอบการบรรยาย





4. การลงทะเบียน






3. การประเมินผลทั่วไป
       ส่วนที่ดีที่สุดของการประชุมคือ......................................................................................
      ส่วนที่ไม่ดีที่สุดของการประชุม คือ..................................................................................
            4. ข้อเสนอแนะ
 หากมีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับงาน ท่านคิดว่าควรจะจัดในหัวข้อใด ......................................................................................................................................................................................................................................................................................
       ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวข้อการประชุมตามที่ท่านต้องการให้สำนักงานประกันคุณภาพฯ
จัดในอนาคตต่อๆ ไป......................................................................................................................................
..........................................................................................................................................
         
5. ความคิดเห็นอื่น ๆ ..................................................................................................................................................................................................................................................................................

        สรุป   การประเมินวิทยากรเพื่อเป็น เป็นการชี้แนะข้อบกพร่องหรือข้อแก้ไข  เพื่อให้นำไปปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อ ๆ ไปขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการคัดเลือกวิทยากรที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงสมมติฐานที่เราตั้งขึ้นมาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริงของความเป็นจริงคือ จะเห็นได้จากการที่ได้ฝึกอบรมจริงแล้วเท่านั้น  ผู้จัดฝึกอบรมจะต้องกำหนดหัวข้อในการประเมินวิทยากร(Checklist) ไว้ล่วงหน้า  เช่นเดียวกันว่าจะประเมินอะไรบ้าง เช่น การเตรียมตัว เทคนิคการนำเสนอหรือกิจกรรม การบริหารเวลา คุณภาพของสื่อ เอกสารประกอบการสัมมนา การตอบคำถาม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความตั้งใจในการถ่ายทอด ฯลฯ

 เรื่องที่ 11 มารยาทในการสมาคม เช่น  การทักทาย  การรับประทานอาหาร
         มารยาททางสังคม
             มารยาทหรือ มรรยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาละเทศะส่วนคำว่า มารยาทในทางสังคม   จะหมายถึง กรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลงอันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกคน
          
การกล่าวคำว่า ขอบคุณเมื่อผู้อื่นให้สิ่งของ /บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่าง ๆ ให้ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขาหรือไม่ก็ตาม    เช่น     บริการเปิดประตูให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของ
ให้เรา ในรถประจำทาง
คนช่วยกดลิฟท์รอเรา หรือช่วยหยิบของที่เราหยิบไม่ถึงให้ เป็นต้น โดยปกติจะใช้คำว่าขอบคุณ กับผู้ที่อาวุโสกว่า และใช้คำว่า ขอบใจกับผู้อายุน้อยกว่าเรา แต่ปัจจุบันมักใช้รวมๆกันไป
         
เอ่ยคำว่า ขอโทษเมื่อต้องรบกวน /ขัดจังหวะผู้อื่น เช่น เขากำลังพูดกันอยู่ และต้องการถามธุระด่วน ก็กล่าวขอโทษผู้ร่วมสนทนาอีกคน แต่ควรเป็นเรื่องด่วนจริงๆ หรือกล่าวเมื่อทำผิดพลาด /ทำผิด หรือทำสิ่งใดไม่ถูก ไม่เหมาะสมโดยไม่ตั้งใจเช่น เดินไปชนผู้อื่น หยิบของข้ามตัวหรือศีรษะผู้อื่น เป็นต้น
        สำหรับคนไทย เมื่อเอ่ยคำว่า ขอบคุณ หรือ ขอโทษ ต่อผู้ที่อาวุโสกว่า เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ มักจะยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย เช่น กล่าวขอบคุณพร้อมยกมือไหว้พ่อแม่ที่ท่านซื้อของให้ เป็นต้น
       
ในการรับประทานอาหารไม่ว่าจะในหรือนอกบ้าน ไม่ควรล้วงแคะ แกะเกาในโต๊ะอาหาร หากจะใช้ไม้จิ้มฟัน ควรใช้มือป้องไว้ ควรใช้ช้อนกลางตักอาหารจากจานรวม  และแบ่งอาหารใส่จานของตนพอประมาณ ไม่มากจนรับประทานไม่หมด ถ้าไอหรือจาม ควรใช้มือหรือผ้าป้องปาก หากต้องคายอาหารก็ควรใช้มือป้องปาก และใช้กระดาษเช็ดปากรองรับ แล้วพับ ให้มิดชิด  และไม่ควรเคี้ยวอาหารเสียงดัง และไม่ควรสูบบุหรี่จนรบกวนผู้อื่น
        
การรับประทานอาหารแบบสากล เมื่อเข้าที่นั่งแล้วให้คลี่ผ้าเช็ดมือวางบนตัก ไม่ควรเริ่มรับประทานอาหารก่อนแขกผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพ   ใช้เครื่องใช้ในการรับประทานเฉพาะที่จัดไว้ให้เฉพาะคน    ใช้ช้อนกลางตักอาหารจานกลาง ห้ามใช้ช้อนของตนตักจากจานกลาง ถ้าต้องการสิ่งที่ไกลตัว อย่าโน้มหรือเอื้อมมือไปหยิบข้ามเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารของผู้อื่น หรือ   อย่าข้ามหน้าคนอื่นไป หากจำเป็นควรขอให้บริการหยิบให้ การหยิบเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้หยิบจากด้านนอกเข้ามาก่อนเสมอ โดยจับส้อมมือซ้าย และมีดมือขวา ถ้าไม่มีมีด  ใช้ส้อมอย่างเดียวให้ถือส้อมด้วยมือขวา จานขนมปังจะอยู่ทางซ้ายให้ใช้มือซ้ายช่วยบิดรับประทานทีละคำ อย่าบิดไว้หลายชิ้นและอย่าใช้มีดหั่นขนมปัง อย่าทาเนยหรือแยมบนขนมปังทั้งแผ่นหรือทั้งก้อนแล้วกัดกิน   การกินซุปให้หงายช้อนตักออกจากตัวและรับประทานจากข้างช้อน อย่ากินปลายช้อน อย่าซดเสียงดัง    ถ้าจะตะแคงถ้วยให้ตะแคงหงายออกจากตัว อาหารเนื้อสัตว์ ให้ตัดแต่พอคำและกินโดยใช้ส้อมช่วย น้ำดื่มให้วางทางขวามือเสมอ ก่อนลุกจากเก้าอี้ให้ทบผ้าเช็ดปากวางไว้บนโต๊ะ
        
การไปชมมหรสพ   เช่น คอนเสิร์ต หนังหรือละคร ควรเข้าแถวซื้อตั๋วตามลำดับก่อนหลัง ไม่แทรก  หรือตัดแถวผู้อื่น หรือฝากเงินคนที่อยู่ข้างหน้า  โดยที่ตัวเองไม่ได้ยืนเข้าแถว เว้นแต่ผู้นั้นสนิทสนมกัน   และมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่ยืนเข้าแถวไม่ได้ ไม่ควรพาเด็กเล็กเกินไปชมการแสดง เพราะจะส่งรบกวนและทำความรำคาญให้ผู้อื่น    ไม่ควรลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น อย่าส่งเสียงสนทนากันดัง  ๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์การแสดง หรือแสดงอาการสนุกสนาน เป่าปาก ตบมือจนเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ หญิงชายไม่ควรเกี้ยวพาราสี หรือกอดจับต้องกันเมื่ออยู่ในโรงมหรสพ  เมื่อไอ จาม หรือถ่มน้ำลาย ต้องทำด้วยกิริยาปกปิด มิให้เกิดเสียงดังรบกวนคนอื่น
         การเดินกับผู้ใหญ่ ถ้าเดินนำ ให้เดินห่างพอสมควร อยู่ด้านใดก็แล้วแต่สถานที่อำนวย แต่โดยปกติจะเดินอยู่ทางด้านซ้ายของผู้ใหญ่ หากเดินตาม ให้เดินเยื้องไปทางซ้ายของผู้ใหญ่เช่นกัน และเดินด้วยความสำรวมไม่ว่าเดินนำหรือตาม
        
การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน มีหลักทั่วๆไปว่า แนะนำผู้อาวุโสน้อยต่อผู้อาวุโสมาก พาชายไปแนะนำให้รู้จักผู้หญิง ยกเว้นชายนั้นจะเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูง พาหญิงโสดไปรู้จักหญิงที่แต่งงานแล้ว  แนะนำผู้มาทีหลังต่อผู้มาก่อน ถ้าเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม การสวดมนต์ ฟังพระสวด ฟังเทศน์ฟังธรรม หรือขณะพูดกับพระสงฆ์
 ให้แสดงความเคารพด้วย การประนมมือ ที่เรียกว่า อัญชลี
คือประนมมือให้นิ้วมือแนบชิดกัน ฝ่ามือราบปลายนิ้วตั้งขึ้น แขนแนบตัวระดับอก ไม่กางศอก ทั้งหญิงชายปฏิบัติเหมือนกัน
       
การไหว้ (วันทา) มี 3 ระดับ คือ
              
1. ถ้าไหว้พระ เช่น พระรัตนตรัย ปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานให้แสดงความเคารพโดยประนมมือให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว
             
2. ถ้าไหว้ผู้มีพระคุณหรือผู้อาวุโส ที่เคารพนับถือ เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ประนมมือให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก
             
3. ถ้าไหว้บุคคลทั่วไป ให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง ถ้า กราบ (อภิวาท) พระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ ต้องกราบ 3 ครั้งแบมือ หากกราบคนไม่ว่าจะเป็นคนเป็น หรือคนตาย กราบ 1 ครั้ง  ไม่แบมือ การจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ให้ประธานในพิธี (จะยืนหรือคุกเข่าแล้วแต่สถานที่)   จุดเทียนเล่มซ้ายมือ (ของประธาน)ก่อน แล้วค่อยจุดเล่มขวา จากนั้นจึงจุดธูป แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หากมีพระบรมฉายาลักษณ์และธงชาติด้วย  เมื่อกราบแล้ว ถอยออกมาแล้วทำความเคารพด้วยการคำนับเพียงครั้งเดียวส่วนคนอื่นๆ ในที่นั้น เมื่อประธานลุกไปประกอบพิธีให้ยืนขึ้น     และเมื่อจุดเทียนเล่มแรก ให้ทุกคนประนมมือจนเสร็จพิธี    เมื่อประธานกลับลงมานั่ง จึงนั่งตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนของมารยาททางสังคมอันเป็นหลักประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งหวังว่าจะเป็นแนวทางให้ท่านได้นำไปใช้ประโยชน์ในโอกาสต่างๆต่อไปตามสมควร
          สรุป   มารยาทเปรียบเหมือนกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้      จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน        ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรม    เพราะ ฉะนั้นมารยาททางสังคม เป็นกฎเกณฑ์ที่มีอิทธิพลในทุกสังคม และทุกชนชาติ  ถ้ายิ่งเป็น วิทยากร แล้วจะต้องมีมารยาท ในการเคารพท่านอาวุโสกว่าในการเข้ารับฟัง หรือร่วมกิจกรรม การพูดทักทาย ครั้งแรกของวิทยากรในการสวัสดีท่านอาวุโสที่เข้าร่วมประชุม หรือรับฟังถือเป็นเสน่ห์เป็นพฤติกรรมที่ดี โดยพฤติกรรมแสดงออก ต้องสุขุมเยือกเย็น  ไม่หลุกหลิกยิ้มแย้ม สดชื่น แจ่มใสทักทาย เป็นมิตรกับคนทั่วไปกิริยาท่าทางสุภาพควบคุมอารมณ์   และร่างกายได้ดีพูดจาด้วยน้ำเสียงชัดเจนนุ่มนวลชวนฟัง สุภาพมีอารมณ์ขันบ้าง